กฟผ จับมือ เมืองพัทยา และ ทช วางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า

 

  

  

  

กฟผ. จับมือ เมืองพัทยา และ ทช. วางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเล สร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล ส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลอ่าวไทย และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลัก Circular Economy

         เมื่อวันที่ 24พ.ค.67 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ เมืองพัทยา และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการบ้านปลาปะการังเทียม จากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ของ กฟผ. โดยมี นายเกียรติศักดิ์ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. รวมทั้งส่วนราชการจังหวัดชลบุรี นักดำน้ำ กฟผ. และผู้ปฏิบัติงาน ทช. เข้าร่วมกิจกรรม ณ ท่าเทียบเรือกู้ภัยแหลมบาลีฮาย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

     นายไพทูล  แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. กล่าวว่า ทช. และ กฟผ. ได้ร่วมกันฟื้นฟูท้องทะเลไทยทั่วประเทศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดระบบนิเวศแก่สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังในโครงการบ้านปลา กฟผ. โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานมาทำเป็นฐานลงเกาะปะการังและนำไปวางในท้องทะเล เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะล้านให้อุดมสมบูรณ์ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์

        น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วม กับเครือข่ายพันธมิตร นำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตั้งแต่ปี 2554 ทั้งพื้นที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ชุด สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าให้แก่ ทช. และเมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น 200 ชุด ซึ่งลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุปกรณ์สำคัญของการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ในแต่ละปีจะมีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานเป็นจำนวนมาก กฟผ. ได้คิดค้นหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางหนึ่งคือ นำมาทำเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล  สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 224,388