กรมปศุสัตว์คุมเข้มมั่นใจไก่ไทยตอบโจทย์ตลาดโลก

กรมปศุสัตว์คุมเข้มสวัสดิภาพสัตว์และการผลิตตลอดห่วงโซ่ มั่นใจไก่ไทยตอบโจทย์ตลาดโลก

           นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก มีการกำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ประเทศคู่ค้าให้ความเชื่อมั่นในระบบการผลิตอาหารปลอดภัยที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า โดยมีตลาดส่งออกหลักคือกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่จากให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหารแล้ว ยังเน้นการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างมากด้วย

           กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่กำกับควบคุมดูแลและสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป สถานที่จำหน่าย จนถึงเนื้อสัตว์สู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเลี้ยงไก่เนื้อที่กว่า 99% เป็นไก่เนื้อในภาคอุตสาหกรรมที่สามารถตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน รวมถึงมาตรฐานหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare ซึ่งกำกับควบคุมดูแลใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในไก่เนื้อทั้งที่บริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทยมีกระบวนการผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตามมาตรฐานระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น ร้านไก่ทอด ร้านไก่ย่าง หรือ ร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ให้ความสำคัญในการปรับปรุงและทบทวนการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องหลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ ได้นำไปใช้ปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ให้มีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งอ้างอิงสอดคล้องตามมาตรฐานสากลของหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (FIVE FREEDOM) ประกอบด้วย1. สัตว์ที่เลี้ยงมีอิสระจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง (Freedom from hungry and thirsty) 2. สัตว์มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม (Freedom from discomfort) 3. สัตว์มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค (Freedom from pain, injury and disease) โดยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี หรือ การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม พื้นที่การเลี้ยงที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสัตว์ 4. สัตว์มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) ด้วยสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ และ5. สัตว์มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ (Freedom to express normal behavior) คือมีอิสระการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ และมีความสบายตามชนิดของสัตว์นั้นๆ

        อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญด้านสวัสดิภาพสัตว์มาโดยตลอด ได้ดำเนินการทำฟาร์มเชิงปราณีตที่ใส่ใจในทุกมิติ ทั้งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เข้าสู่ฟาร์ม ดังความสำเร็จของระบบคอมพาร์ทเมนต์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยที่ทำให้ไทยปลอดไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งพัฒนาการด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการควบคุมไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโต และลดการใช้ยาปฎิชีวนะในฟาร์มเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมได้ โดยมาตรการต่างๆ ทั้งด้านสวัสดิภาพสัตว์ และการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล มีการห่วงใยใส่ใจสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ คำนึงถึงความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรฐานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่งเสริมเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของไก่เนื้อไทยในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 212,429