ชลบุรี จัดงานพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องในวันรพี ประจำปี 2567

  

  

  

  

ชลบุรี จัดงานพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องในวันรพี ประจำปี 2567

     วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 นายสมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 2 เป็นประธานในพิธีถวายพวงมาลา และพิธีถวายราชดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องในงานวันรพี ประจำปี 2567 ณ บริเวณหน้าอาคารศาลจังหวัดชลบุรี (ตึกเก่า) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ตำรวจ และคณะหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมพิธีวางพวงมาลา

       เนื่องด้วยวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งบรรดานักนิติศาสตร์ทั้งมวลได้เทิดทูลพระองค์ว่าเป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย และได้ร่วมกันกำหนดวันนี้ว่าเป็นวันรพี วันนี้นักนิติศาสตร์ทั้งหลายได้มาพร้อมกันเพื่อน้อมรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองศ์ ที่ทรงมีปกแผ่มาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันนักนิติศาสตร์ได้เทิดทูน และสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองศ์ท่าน โดยพร้อมกันจรรโลงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้ปรากฏ เป็นประโยชน์ นำมาซึ่งความสงบสุขของเหล่าประชาราษฎร์ทั้งหลายทั้งปวง ต่อไป

         ในการนี้ นายสมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ได้กล่าวสดุดีพระเกียรติคุณว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ

        เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษจนรอบรู้เชี่ยวชาญ ทรงมีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงสามารถสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ที่วิทยาลัยใครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชันษาเพียง 17 พรรษา และได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย เมื่อทรงพระชันษา 20 พรรษา โดยใช้เวลา ศึกษาเพียง 3 ปี ด้วยพระปรีชาญาณดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี” โดยพระองค์ทรงมีพระประสงค์ศึกษาวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตต่อไป แต่เนื่องจากความจำเป็น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับสั่ง เรียกพระองค์กลับเพื่อเข้ารับราชการงานเมือง

        พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2439 ทรงจัดให้มีการรวบรวมชำระสะสาง จัดวางบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ทันสมัย เพียงพอแก่ความต้องการของบ้านเมืองและสังคม และบังคับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บังเกิดผลให้การพิจารณาพิพาก ษาอรรถคดีทั้งปวงของ ศาลสถิตยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีระเบียบ สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วทุกศาล ทำให้ราชการศาลสถิตยุติธรรมของประเทศเจริญทัดเทียมกับของเหล่านานาอารยประเทศ

        และในปีพุทธศักราช 2440 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นแห่งแรก ทรงรวบรวมและแต่งตำรากฎหมายในลักษณะต่าง ๆ ไว้มากมาย อันเป็นรากฐานสำคัญ อย่างยิ่งต่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหา วิทยาลัยต่าง ๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

        พระองค์ทรงยึดหลักว่า "คนทุกคนต้องเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน จะทำอะไรต้องคิดถึงคนอื่น” และยังทรงถือคติพจน์ของชาวอังกฤษที่ว่า "คนเราควรจะให้แต่ไม่ควรจะขออะไรจากคนอื่น ควรกินพอประมาณไม่ควรกินมากเกินไป จนถึงท้องกาง ควรช่วยเหลือคนอื่นไม่ใช่เหยียบย่ำ ควรจะรับใช้ ไม่ควรคิดเป็นนายคน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 201,593