ชลบุรี จัดงานพิธีวันพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ประจำปี 2566

  

  

  

ชลบุรี จัดงานพิธีวันพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

        วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ประธานพิธี นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ศาลตุลาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด และพสกนิกรชาวจังหวัดชลบุรี ร่วมถวายเครื่องราชสักการะ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ อาคารอเนกประสงค์สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

        ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และทูลเกล้าขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”

         นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถานและพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า “…ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูงให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือ ทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป”

       จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของช่างฝีมือที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมากว่า 53 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลกในที่สุด

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 219,020