ชลบุรี จัดพิธีลงนามแสดงเจนจำนงโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา

จังหวัดชลบุรี จัดพิธีลงนามแสดงเจนจำนงโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา

         วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามแสดงเจนจำนงโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา ณ เทศบาลเมืองบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

         นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อบูรณาการการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

         นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นับเป็นการสานพลังครั้งสำคัญระหว่างสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังกับภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา นำโดยสภาหอฯ และ สรท. กยท. และนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เพื่อนำร่องยกระดับการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งในมิติของการสร้างงาน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรและผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องมากถึง 1.7 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ และในมิติของการสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นและการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ยางพาราในระดับปลายน้ำรวมเป็นมูลค่าส่งออกสูงถึงกว่าปีละ 6.8 แสนล้านบาท โดยไทยนับเป็นผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งอุตสาหกรรมยางพารา โดยเฉพาะการผลิตในระดับต้นน้ำก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจำนวนมหาศาล เนื่องจากมีการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ (Local Content) สูงถึงกว่า 90% จึงกล่าวได้ว่า ยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อันจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินและขยายธุรกรรมในอุตสาหกรรมให้ขยายตัว และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวของภาคการผลิตและส่งออกยางพาราของประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น สะดวกขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราและที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเริ่มต้น เริ่มปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวหรือขยายธุรกิจเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกได้ รวมถึงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการอย่างครบวงจรท่ามกลางโอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไทย

         สำหรับความร่วมมือในภาครัฐบาลคู่ขนานกับภาคเอกชนในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในมิติต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุนของผู้ประกอบการทั้งระดับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจฐานรากและต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 219,022