สาธารณสุขชลบุรี จัดสัมมนาซ้อมแผนกู้ชีพทางน้ำและลำเลียงทางอากาศ

 

  

  

  

สาธารณสุข จัดประชุมสัมมนาพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินและซ้อมแผนสถานการณ์สมมุติด้านการกู้ชีพทางน้ำ และลำเลียงทางอากาศ

        วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน และซ้อมแผนสถานการณ์สมมุติด้านการกู้ชีพทางน้ำ และลำเลียงทางอากาศ ณ ตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่6 นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายนันทวัฒน์ ทองช่วง นายอำเภอเกาะสีชัง และผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายกเทศมนตรีตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง มณฑลทหารบกที่ 14 กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ศรชล หน่วยกู้ชีพและกู้ภัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดชลบุรี ร่วมฝึกซ้อมและสังเกตการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองบินตำรวจที่ให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการฝึกปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศอีกด้วย

         จังหวัดชลบุรี โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลชลบุรี ได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน และซ้อมแผนสถานการณ์สมมุติด้านการกู้ชีพทางน้ำ และลำเลียงทางอากาศ ระหว่างวันที่ 22- 23 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นการฟื้นฟูทักษะ การให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และเครือข่ายหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็งมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความพร้อม ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกก (EEC) ต่อการบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ทางทะเลและเกาะต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ต่อไป

         ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การเข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น โรคหัวใจ อุบัติเหตุ อุบัติภัย ต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทันท่วงที บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มีบทบาทสำคัญและจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ มีการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานพร้อมทั้งบูรณาการทรัพยากรในการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดข้างเคียงอย่างคุ้มค่า และในการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบอีกด้วย

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 220,476