ชลบุรี จัดโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชน

  

  

ชลบุรี จัดโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชน

        วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชน ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

      สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี เล็งเห็นความสำคัญของกรอบและทิศทางการพัฒนาชุมชน และได้ประสานการปฏิบัติหน่วยงานภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมบันทึกความร่วมมือ (MOU) ตามโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชนจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก 14 หน่วยงาน ร่วมลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วย ที่ทำการปกครองจังหวัดชลบุรี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัด เขต1 เขต2 และเขต3 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ 18 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา เทศบาลนคร เมือง และตำบล รวม 40 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล รวม 58 แห่ง และชมรมอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัด

       นายมนูญ สอนเกิด พัฒนาการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชน จังหวัดชลบุรี เป็นการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชนจังหวัดชลบุรี โดยใช้พลังชุมชน ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน และแผนพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็ง คนในสังคมมีความเอื้ออารีเป็นชุมชนสมานฉันท์ ไม่แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ทุกคนมีจิตอาสาร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญาของคนในหมู่บ้าน ชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านเกณฑ์ชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ) จปฐ.เป็นข้อมูลที่แสดงถึงลักษณะของสังคมไทยในชนบทที่พึงประสงค์ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของเครื่องชี้วัด จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ สุขภาพดี มีบ้านอาศัย ฝักใฝ่การศึกษา รายได้ก้าวหน้า ปลูกฝังค่านิยมไทย ร่วมใจพัฒนา มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปีโดยประชาชน อาสาพัฒนาชุมชน (อช) และองค์การ

        ปกคอรงส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตและคุณภาพการพัฒนาชนบทไทย ทำให้ประชาชนสามารถทราบได้ด้วยตนเองว่าในขณะนี้ คุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว รวมไปถึงหมู่บ้านอยู่ในระดับใด มีปัญหาที่จะต้องแก้ไขในเรื่องใด โดยนำข้อมูลไปใช้วางแผนพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ที่จะแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการ ในลักษณะของการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนขึ้นรองรับ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ลงไปทำแผนชุมชน บางครั้บงอาจจะทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันอยู่บ้าง การแก้ไขปัญหาอาจจะไม่สอดคล้อง ครอบคลุมนิติการพัฒนาในทุกด้านดังนั้นการบูรณาการ การพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน เป็นแบบองค์รวม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคประชาชนภาครัฐต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

 

      นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า หัวใจของการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) แท้จริงแล้วอยู่ที่ ประชาชน ที่สามารถทราบปัญหาของตนเอง เวลาที่จัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นเสมือนวัฏจักรที่สามารถช่วยในการปรับปรุงตนเอง คำว่า ตนเอง ในที่นี้ยังหมายรวมถึง หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดอีกด้วย เพราะการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล จปฐ. มีการนำข้อมูลมาสรุปภาพรวมในแต่ละระดับ ตั้งแต่หมู่บ้าน เรื่อยไปจนถึงระดับ จังหวัด และประเทศต่อไป

        สำหรับข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ที่ได้มีการจัดเก็บโดยประชาชนด้วยความสนับสนุนของคณะทำงานสนับสนุนการปฏิยบัติการพัฒนาชนบทระดับตำบล (คปต.) และผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลนั้น ทำให้ทราบว่า แต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร หมู่บ้านมีปัญหาอะไร และเมื่อทราบแล้ว นำข้อมูลไปสู่กระบวนการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งจะสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นว่าส่วนใดสามารถแก้ปัญหาเองได้ ครัวเรือนแต่ละครัวเรือน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ก็ต้องช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาเองได้ ครัวเรือนแต่ละครัวเรือน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ก็ต้องช่วยกันดำเนินการแก้ไข ส่วนใดที่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ก็ให้ขอรับการสนบสนุนบางส่วนหรือทั้งหมดจากโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนราชการในภูมิภาค อำเภอ จังหวัด ส่วนราชการส่วนกลาง กรม กระทรวง หรือในระดับประเทศต่อไป

      อย่างไรก็ตาม การจัดโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชนจังหวัดชลบุรี ในวันนี้ ยังได้จัดกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่ การจัดเสวนาเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ในหัวข้อเรื่อง การบูรณาการงานของอาสาพัฒนาชุมชนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ประกอบด้วย นางกอบแก้ว จันทร์ดี รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวัฒนา ไทยเจริญ เจ้าพนักงานปกครอง ชำนาญการ นายวิทยา บุญทวีกีรติกานต์ ท้องถิ่นอำเภอเมืองชลบุรี และนายประทีป ทองสงวน ผู้นำ อช. ตำบลโคกขี้หนอน อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายมนูญ สอนเกิด พัฒนาการจังหวัดชลบุรี ดำเนินรายการ และกิจกรรมจัดนิทรรศการผลงานของชมรมอาสาพัมนาชุมชน จากทุกอำเภออีกด้วย

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 224,360