ไทยออยล์ปักธงวางศิลาฤกษ์โครงการพลังงานสะอาด (CFP) แสดงศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

ไทยออยล์ปักธงวางศิลาฤกษ์โครงการพลังงานสะอาด (CFP) แสดงศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

      วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะผู้บริหาร บมจ.ไทยออยล์ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

        ไทยออยล์ลงทุนพัฒนาโครงการ CFP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50 สามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบสนองการปรับเปลี่ยนของตลาดซึ่งอิงกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาในการเดินเรือในปี 2563 รวมถึงการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการ CFP ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 โครงการนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin: GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล   

       นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด  (มหาชน ) เปิดเผยว่า โครงการ CFP จัดเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยโครงการ CFP จัดเป็นโครงการภาคเอกชนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งของประเทศ ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยวงเงินในการจ้างงานประมาณ 22,000 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 คนในช่วงก่อสร้าง และวงเงินในการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณ 18,000 ล้านบาท โครงการนี้ยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว โดยทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในอนาคตโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยอาจต้องเริ่มมีการนำเข้าน้ำมันอากาศยาน จากความต้องการที่ขยายตัวขึ้น

         นอกจากนี้ โครงการ CFP ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยการต่อยอดสายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naptha และ Heavy Naphtha ของโครงการ CFP เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการปิโตรเคมีระดับ World Scale ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่น (New S-Curve) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนในสังคม ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ว่า สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Empower Human Life through Sustainable Energy and Chemicals)

         สำหรับการก่อสร้างโครงการ CFP มีความคืบหน้าประมาณ 29% โดยการออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้นได้ งานสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรหลักที่ใช้ระยะเวลาจัดส่งนานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมโดยละเอียด รวมถึง การปรับปรุงพื้นที่และงานวางฐานราก เพื่อรองรับงานติดตั้งโครงสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เนื่องจากโครงการ CFP เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องใช้กำลังคนในช่วงการก่อสร้างมากถึง 15,000 – 20,000 คนต่อวัน บริษัทฯ ได้เตรียมมาตรการด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมในการควบคุมการก่อสร้าง รวมถึง มาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมด้านฝุ่นละออง การควบคุมเศษวัสดุก่อสร้างและขยะ การบริหารงานจราจรในพื้นที่ การควบคุมเรื่องเสียงอีกด้วย ตลอดจน การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเชิงรุกกับชุมชนและประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

         บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ CFP จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณค่าทางธุรกิจ ผ่านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่บริษัทฯ ได้รับการยกย่องเป็นองค์กรโปร่งใส และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ด้วยคะแนนสูงสุดของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Industry Leader) เป็นปีที่ 5 และเป็นสมาชิกในกลุ่ม Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ”

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

    

 

 

 

Visitors: 209,591