ศุลกากรแหลมฉบังร่วมกับกรมการค้าภายใน ตรวจสอบตู้คอนเทรนเนอร์ 4 ใบ บรรจุหน้ากากอนามัย กว่า 5.6 ล้านชิ้น
ศุลกากรแหลมฉบังร่วมกับกรมการค้าภายใน ตรวจสอบตู้คอนเทรนเนอร์ 4 ใบ บรรจุหน้ากากอนามัย กว่า 5.6 ล้านชิ้น ส่งออกอเมริกา ตัวแทนบริษัทยืนยันส่งออกถูกต้อง หลังส่งออกไปแล้วกว่า 6 ตู้คอนเทนเนอร์
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่บริเวณโกดังเก็บสินค้า ท่าเรือซี 3 ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค, พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช ผู้กำกับ สภ.แหลมฉบัง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นางสาวพัตถาภรณ์ ไชยานุพงศ์ ผอ.กองจัดระบบราคาและปริมาณสินค้า 1 ผู้แทนกรมการค้าภายใน และตัวแทนบริษัทฯ เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งออกหน้ากากอนามัย ได้ร่วมกันเปิดตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 ใบ ซึ่งภายในบรรจุหน้ากากอนามัย หลากหลายชนิด ทั้งแบบธรราดา แบบใช้ในทางการแพทย์ แบบพรีเมี่ยม รวมทั้งสิ้นกว่า 5.6 ล้านชิ้น แบ่งออกเป็นตู้คอนเทนเนอร์ละ 1.4 ล้านชิ้น โดยสินค้าดังกล่าวผลิตที่บริษัทแห่งหนึ่งภายในประเทศไทย แล้วส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขนถ่ายขึ้นเรือบรรทุกสินค้าผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง โดยก่อนหน้านี้มีตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ใบ ที่บรรจุหน้ากากอนามัย ของบริษัทดังกล่าว ถูกส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่งผลให้เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีคำสั่งด่วนให้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในการบริหารจัดการของรัฐบาล หลังจากนั้นนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาสุขภาพ
หลังจากเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และมีมาตรการห้ามส่งออกแล้ว และที่ให้ส่งออกได้กำหนดคุณสมบัติพิเศษ คือใช้ในทางการแพทย์ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศได้ รวมทั้งโรงงานผู้ผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องผลิตเพื่อส่งออกทั้งหมด
ทั้งนี้จากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ทั้ง 4 ใบ พบหน้ากากอนามัยหลากหลายชนิด ทั้งแบบธรราดา แบบใช้ในทางการแพทย์ แบบพรีเมี่ยม โดยมีตัวแทนบริษัท นำหลักฐานเอกสาร หลักฐานการเสียภาษี หลักฐานการอนุญาตส่งออก จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
ด้านนายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ปกติแล้วบริษัทดังกล่าว มีประวัติการส่งออกหน้ากากอนามัย อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 และสำหรับบริษัทดังกล่าว ก็ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อายุสัญญาเป็นเวลา 1 ปี ในการส่งออกหน้ากากอนามัย ส่วนสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง จะมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้า และส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านเครื่องเอกซเรย์ ว่าถูกหรือผิดกฎหมาย หรือการสำแดงเท็จ เท่านั้น โดยสิ่งที่เรากลัวมากที่สุดไม่ใช่การสำแดงหน้ากากอนามัย แต่เป็นพวกสำแดงเท็จ เช่น ชิ้นส่วนผ้า อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่า สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา
ปริญญา/ข่าว/ภาพ