รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นจังหวัดชลบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นจังหวัดชลบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก

        วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางป้องกันแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผู้แทนส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและมาตรการการแก้ไขปัญหา ณ มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายนวมินทราชินี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในการนี้นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปการแก้ไขสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

       พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พบว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ แม้ว่าฝนตกลงมาในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาและทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอยู่บ้าง แต่มีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้น กอนช.จึงได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ โดยหนึ่งในมาตรการคือการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำและลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าของมาตรการ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเบาบางลงและชะลอ การเกิดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงไปได้มาก นอกจากนี้ยังขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนด ชาวจันทบุรี สทนช. กรมชลประทานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จังหวัดจันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตลอดฤดูแล้งปีนี้

       “เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขอมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังนี้ 1.จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจ ติดตาม สถานการณ์ ขาดแคลนน้ำ และให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างทันท่วงที 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท East Water การนิคมอุตสาหกรรมฯ และมณฑลทหารบกที่ 14 ร่วมกันป้องกันและดำเนินมาตรการ ลดผลกระทบในพื้นที่ EEC โดยพิจารณาปรับปรุง พัฒนาเชื่อมโยงน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม สูบน้ำจากลำน้ำธรรมชาติเติมอ่างเก็บน้ำ กรณีมีฝนตก 3.รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลงอย่างน้อย 10% อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งและเกิดความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป”

         ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า กอนช. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC มีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายเติมน้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ จังหวัดระยอง และ จังหวัดชลบุรี ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำประแสร์จังหวัดระยอง ดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนดและใช้ระบบสูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ช่วง 1-25 มี.ค.63 รวม 10 ล้านลบ.ม. และการสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพานเพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 0.15 ล้าน ลบ.ม./วัน 2. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง ดำเนินการสูบผันน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.6 ล้าน ลบ.ม./วัน และสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอีก 3 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตก ในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 0.10 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาตตาพุดใช้น้ำจากคลองน้ำหูเพื่อลดการใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในปริมาณวันละ 0.05 ล้าน ลบ.ม. และ 3.อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ จังหวัดชลบุรี 3 ล้านลบ.ม. และการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯ จังหวัดปราจีนบุรีลงแม่น้ำบางปะกงและสูบต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ อีก 0.18 ล้าน ลบ.ม./วัน กรณีมีฝนตกในลุ่มน้ำบางปะกงผลักดันน้ำเค็มลงมาต่ำกว่าจุดสูบน้ำ

       “นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมอีก 4 มาตรการเพื่อรองรับมาตรการหลักที่กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ 1. การเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเช้าในระบบน้ำของจ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา อีก 14 ล้าน ลบ.ม.  2. การลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 10% 3. การลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชนโดยการเดินระบบอยู่ในโหมด Stand Bye หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น และ 4. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสากรรมในพื้นที่ จังหวัดระยอง ลดการใช้น้ำ 10%  ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยว ในพื้นที่เมืองพัทยา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา ยังมีแผนติดตั้งระบบสูบน้ำเคลื่อนที่จากอ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1,2 และ     อ่างเก็บน้ำมาบฟักทอง 1,2 รวม 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนจะมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดแล้งนี้”

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 224,360