ข่าวแจก 1 - 15 พฤษภาคม 2563

ประชาสัมพันธ์ สำนักงานประสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี

โทรศัพท์/โทรสาร 038 - 279448  www.thailandchonburi.com

ระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม 2563

*****************************************

จังหวัดชลบุรี ขอเลื่อนการออกหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน

       นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดชลบุรี ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานและกำหนดออกหน่วยให้บริการประชาชนตามโครงการออกหน่วย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน จังหวัดชลบุรี เป็นประจำทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในปัจจุบัน ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2549 (ฉบับที่ 1) และข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีที่ขอความร่วมือให้ทุกภาคส่วนหลีกเลี่ยง หรือเลื้อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดขอโรคโดยไม่จำเป็น จังหวัดชลบุรี ขอเลื่อนการออกหน่วยให้บริการประชาชนตามโครงการหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ปราชน จังหวัดชลบุรี ประจำปี 2563 ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติ จังหวัดชลบุรีจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ปริญญา/ข่าว

*********************************

ชลบุรี ขอเชิญสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นม ยู.เอส.ที.ไทย – เดนมาร์ค เพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชน

           นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรี ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทยว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยได้รับมอบนโยบายจการัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวนัญญา ไทยเศรษฐ์) ให้นำเสนอผลิตภัณฑ์นม ยู.เอส.ที.ไทย – เดนมาร์ค ชนาด 200 มิลลิลิตร เพื่อจำหน่ายให้กับส่วนราชการในจังหวัดชลบุรีในราคาพิเศษหีบละ 297 บาท (เฉลี่ยราคากล่องละ 8.25บาท) เนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาดไวรัส CIVID – 19 ในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคลดลง โดยสามารถสั่งซื้อในตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นี้

       ในการนี้ จังหวัดชลบุรี ขอเชิญพี่น้องประชาชน สั่งซื้อผลิตภัณฑ์นม ยู.เอส.ที.ไทย – เดนมาร์ค เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID – 19 และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามปกติ โดยติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการตลาดและการขาย อ.ส.ค. เลขที่ 101 ถนนย่านพหลโยธิน แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์หมายเลข 02 – 2798622 และ 02 – 2798624

ปริญญา/ข่าว

**************************************

สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศ ผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการเกี่บวกับการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

         นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย การผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) และแนวทางปฏิบัติ (ฉบับที่ 5/2563) ตามที่ได้มีประกาศจุฬาราชมนตรี  เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ฉบับที่3/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 1. งดการละหมาดญะมาอะห์และการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะฮ์) ที่มัสยิดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่27 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะมีสภาวการณ์ในทางที่ดีขึ้น โดยให้สัปปุรุษละหมาดดุฮ์รี 4 รอกาอัต ที่บ้านแทน ทั้งนี้ การงดละหมดวันศุกร์ในถานการณ์เกิดโรคระบาดร้ายแรงถือเป็นอุปสรรคที่อนุโลมให้งดเว้นการละหมาดวันศุกร์ได้ นั้น

          ด้วยขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค(COVID-19) ในประเทศไทยมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อันเนื่องมาจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งของพี่น้องมุสลิมในทุกพื้นที่ในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของจุฬาราชมนตรี ดังนั้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการงดการปฏิบัติศาสนกิจบางมาตรการตามลำดับขั้นตอนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค(COVID-19) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548(ฉบับที่5)ลงวันที่1 พฤษภาคม 2563 จึงพิจารณาเห็นควรผ่อนปรนให้มีการปฏิบัติศาสนกิจละหมดวันศุกร์(ญุมอะห์) ตามมาตรการดำเนินการและแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

        1.มาตรการดำเนินการ  ให้ครณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้ดุลยพินิจร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยขอคำปรึกษาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ในการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์)เพื่อให้เป็นไปตามประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับนี้และมาตรการหรือคำแนะนำของทางราชการเกี่ยวกับการป้องกันโรค

      2.แนวทางการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) สำหรับมัสยิด  ให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มาตรวจวัดอุณภูมิก่อนเข้ามัสยิด , ให้จัดวางเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ไว้บริเวณประตูทางเข้ามัสยิด , งดใช้บ่อน้ำ(กอเลาะห์) หรืออ่างใหญ่ร่วมกัน ,ให้ทำความสะอาดพื้นมัสยิดก่อนและหลังการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์)ทุกครั้ง และไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยให้เปิดหน้าต่าง ผ้าม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก,ให้จัดเครื่องหมายจุดละหมาดที่สามารถระบุตำแหน่งได้ โดยให้เว้นระยะห่างแต่ละจุด1.50-2 เมตร , ให้ควบคุมทางเข้าออกมัสยิด และจัดระเบียบระยะห่างขณะเดินเข้าและเดินออกจากมัสยิดหลังเสร็จสิ้นการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์)

         สำหรับผู้เข้าร่วมปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) ให้อาบน้ำละหมาดจากที่บ้าน ,ให้ใช้ผ้าปูละหมาด(ผ้าชะญาดะห์) ส่วนตัว โดยนำมาจากบ้าน ,ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มัสยิดจัดเตรียมไว้ ,ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติศาสนกิจ ,งดการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือพร้อมกล่าวสลามเท่านั้น ,เด็กและสตรีให้งดการร่วมละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) ที่มัสยิด ,หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดการไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด การปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) ให้เว้นระยะห่างระหว่างแถวและในแถว 1.50-2เมตร และให้ยืนตามจุดที่มัสยิดได้จัดทำเครื่องหมายไว้ , ให้กระชับเวลาในการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) นับตั้งแต่อะซาน คุตบะห์และละหมาด ไม่เกิน 20 นาที

         ทั้งนี้ ยังคงให้งดการจัดกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมอื่นที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทุกประเภท ตลอดจนการเลี้ยงละศีลอด ซึ่งการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม โดยมีเจตนารมณ์ตั้งมั่นในการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมทุกภาคส่วน จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังประธานกรรมการอิสลามประขำจังหวัดได้แจ้งไปยังอิหม่ามทุกมัสยิดในสังกัดให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ตามประกาศจุฬาราชมนตรีต่อไป

ปริญญา/ข่าว

*********************************

กรมการขนส่งทางบก ห่วงใยถึงความปลอดภัย ตระหนักถึงสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 “ขอเลื่อนการให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ออกไปจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือมีประกาศเป็นอย่างอื่น”

          นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ห่วงใยถึงความปลอดภัย ตระหนักถึงสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ประกอบกับการติดตามประเมินสถานการณ์จากสำนักงานขนส่งทุกจังหวัด หลังจากที่ได้มีการประกาศผ่อนคลายการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถบางกระบวนงานก่อนหน้านี้ โดยพบว่าการเตรียมการในหลายพื้นที่ยังพบโอกาสเสี่ยงต่อการติดต่อสัมผัส ประกอบกับบางจังหวัดยังไม่อนุญาตให้ผ่อนคลายมาตรการด้านใบอนุญาตขับรถ จึงเกรงว่าประชาชนบางส่วนจะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปดำเนินการใบอนุญาตขับรถในจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 5 ยังกำหนดข้อห้ามการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย และให้ประชาชนงด หรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่มีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กรมการขนส่งทางบกจึงมีความจำเป็นต้อง “เลื่อนการเปิดให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ออกไปจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือมีประกาศเป็นอย่างอื่น” เพื่อให้การดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถ สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าว และเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันไม่ให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่

           สำหรับผู้ที่ใบอนุญาตขับรถที่สิ้นอายุ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 จนถึงวันที่มีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีประกาศเป็นอย่างอื่นนั้น กรมการขนส่งทางบกประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกันภัย (คปภ.) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมาย และให้ถือว่าใบอนุญาตขับรถที่สิ้นอายุ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 ยังสามารถใช้ขับรถได้ในช่วงที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกันภัย (คปภ.) ได้ยืนยันข้อมูลกรณีผู้ขับขี่รถที่มีใบอนุญาตขับรถตรงตามประเภท แม้จะสิ้นอายุแล้ว เมื่อเกิดอุบัติขึ้นในระหว่างระยะเวลาการเอาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ยังคงให้ความคุ้มครองครบถ้วน

           อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่ทำรายการจองคิวดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถไว้แล้วนั้น ยืนยันว่าทุกคนจะได้รับสิทธิในการดำเนินการตามลำดับคิวเดิมที่จองไว้แล้ว เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อมูลให้ผู้จองคิวทราบโดยตรง ควบคู่กับการสื่อสารผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณากระบวนงานขั้นตอนด้านใบอนุญาตขับรถเพื่อกำหนดมาตรการที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับประชาชน เพื่อไม่ให้การติดต่อราชการที่สำนักงานขนส่งมีความเสี่ยงทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ปริญญา/ข่าว

****************************************

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อ ทางอาหารและน้ำ ในช่วงโควิด-19

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกัน 5 โรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งในวันที่อากาศร้อนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ประกอบกับในช่วงนี้ มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ จึงมีการประกอบอาหารเองหรือออกไปรับแจกจ่ายอาหารจากข้างนอกบ้าน แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่สะอาด โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น อาจทำให้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้

          กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยจากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 เมษายน 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 271,933 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 25,640 ราย โรคบิด 679 ราย โรคอหิวาตกโรค 1 ราย และโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 153  ราย

          สำหรับโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้น การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในการปรุง การเก็บอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน อาหารควรปรุงสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.) เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง  และหากมีอาการตามข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์  และควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ปริญญา/ข่าว

*******************************

กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายเบียร์สดทางออนไลน์ และมีช่องทางการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่

         กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียถึงประเด็นการจำหน่ายเบียร์สดบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์แบบใส พร้อมติดฉลากยี่ห้อเบียร์ต่างๆ จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ พร้อมการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่

        นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากกรณีดังกล่าว และลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่บรรจุย่านลาดพร้าว พบการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตามมาตรา 32 ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  นอกจากนี้ ยังพบความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 157 ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อการค้า มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

          นอกจากนี้ ตามที่ได้มีกระแสโพสต์เชิญชวนดื่มเหล้าที่บ้าน พร้อมโชว์รูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกิจกรรมดังกล่าว มีการแสดงภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ และจัดโปรโมชั่นในช่วงที่ประเทศไทยมีวิกฤตโรคโควิด-19 เชิญชวนให้ประชาชนซื้อผลิตภัณฑ์เบียร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตามมาตรา 32 เช่นกัน โดยทาง สคอ. ได้รับเรื่องร้องเรียนและกำลังดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

         นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค โดย สคอ. ได้มีการเฝ้าระวังการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่า มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก และมักจะพบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หลายประการด้วยกัน เช่น การโฆษณา การลดราคา การแจกแถม ให้สินค้าอื่น เป็นต้น อีกทั้งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางดังกล่าว ไม่สามารถควบคุมอายุของผู้ซื้อได้ จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานที่เป็นเยาวชนให้ทั่วถึง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียนการกระทำผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://TAS.go.th หรือค้นหาคำว่า "ระบบแจ้งร้องเรียนการกระทำผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ" และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 02 590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ปริญญา/ข่าว

***********************************

Visitors: 219,497