นายกสมาคมเลี้ยงไก่ ยืนยันข่าวโรคเอดส์ระบาดในหมูและไก่ไม่เป็นความจริง
นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ยืนยันซ้ำข่าวพบโรคเอดส์ระบาดในหมูและไก่ ไม่เป็นความจริง แจงผู้ประกอบการมีมาตรฐานสุขอนามัย และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศควบคุมเข้ม วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อ
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลซ้ำอีกครั้งว่า หมู-ไก่ติดเชื้อตัวใหม่เป็นเอดส์ ห้ามกิน 6 เดือน จนทำให้กรมกรมปศุสัตว์ ต้องออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นข้อความเท็จที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการนำกลับมาแชร์ใหม่อีกครั้ง และยืนยันว่าจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบในพื้นที่ที่มีการอ้างถึง รวมทั้งพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศยังไม่เคยพบกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และเตือนผู้ที่โพสต์และแชร์ข่าวปลอมว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษหนักทั้งจำและปรับนั้น
ล่าสุด วันนี้ (18 เม.ย.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกและเนื้อไก่แปรรูปไปยังต่างประเทศ ได้ออกมายืนยันซ้ำอีกครั้งว่า ข่าวดังกล่าวไม่มีความเป็นจริงแต่อย่างใด และในส่วนผู้เลี้ยงยังไม่เคยเจอการระบาดในโรคนี้ ไก่ที่เราทำธุรกิจกันอยู่ทุกวันนี้ยังคงเจริญเติบโตดี และหากมีโรคต้องแสดงอาการเจ็บป่วยให้เห็นแต่ตอนนี้ไม่มี และสิ่งที่ผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนหนักจะมีแค่เรื่องอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จาก 40-50% ในช่วงต้นปี ขยับมาเป็น 70-80% แล้วหลังเกิดการสู้รบกันระหว่างรัสเซียและยูเครน”
ดร.ฉวีวรรณ เผยว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีสงคราม ความต้องการอาหารจากไทยจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ผลิตแทบจะผลิตสินค้าไม่ทัน แต่กลับต้องเจอปัญหาเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะเรือสำหรับขนส่งสินค้าที่หายาก รวมทั้งราคาตู้สินค้าที่ยังแพงเช่นเดิม จนไม่รู้ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร“ขอฝากเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อกับข่าวลวงที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เพราะการทำเช่นนี้เท่ากับการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงที่อยู่กันลำบากมากพอแล้ว ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน อาหารสัตว์ หรือแม้แต่วัตถุดิบทุกอย่างที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ดังนั้น หากไม่จำเป็นอย่ามาเพิ่มโรคให้ผู้ประกอบการอีกเลย”โดยยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงหมูหรือไก่ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ได้ยึดถือเรื่องสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
อีกทั้งยังมีกฎระเบียบทั้งของคู่ค้าในสหภาพยุโรป และข้อตกลงทางการค้าที่กรมปศุสัตว์ ควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ขั้นตอนการสวอบหาเชื้อโควิด-19 และเชื้อโรคต่างๆ ในไก่ก่อนเข้าโรงงานล่วงหน้าถึง 10 วัน เช่นเดียวกับการทำข้อตกลงทางการค้าที่มีทั้งระเบียบเรื่องตรวจหาเชื้อโรค และการให้ยาควบคุมไว้ทั้งหมด
ส่วนปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน หากยังคงยืดเยื้อและยาวนาน ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการเชื่อว่าจะยังจบได้ยากนั้น ดร.ฉวีวรรณ เผยว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตอาหารสัตว์จากที่อื่นทดแทน แม้ว่ารัสเซียและยูเครนจะเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีและข้าวโพด แหล่งใหญ่ของโลกก็ตาม
“ขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังมองว่าอาจกลับไปใช้แหล่งผลิตเดิมอย่างประเทศอินเดีย ที่มีกากถั่วเหลืองจำนวนมาก หรือข้าวโพด ที่เคยนำเข้าจากพม่า ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดความไม่สงบภายในประเทศที่ทำให้การส่งออกยากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม ซึ่งผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับต้นทุนผลิตที่สูงต่อไป
ปริญญา/ข่าว/ภาพ