ชลบุรี จัดการประชุมครูแนะแนวเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้เยาวชน
ชลบุรี จัดการประชุมครูแนะแนวเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้เยาวชน
วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2566 นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมชี้แจงโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น2 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนางปัทมา วิวัฒน์วานิช รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี พันจ่าเอกสันติ เกิดประสพ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1 รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งมีนายประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ให้การต้อนรับ
สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ได้จัดการประชุมชี้แจงโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ภายใต้การประสานความร่วมมือในการพัฒนานักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ที่ครอบครัวยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ให้มีทักษะด้านอาชีพในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” ต่อไป
สำหรับการจัดประชุมในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต1 เขต2 และเขต3 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสิรมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี และโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จำนวน 250 คน
นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับหรือมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่3 เป็นโครงการสำคัญที่ดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องและมีความชัดเจนให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนวในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะครูแนะแนว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง ครูแนะแนวจึงถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการต้นน้ำ โดยเริ่มจากการสำรวจหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่3 และเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นเหตุผลให้ได้มีการจัดประชุมชี้แจงในวันนี้
ครูแนะแนว เป็นบุคคลที่สำคัญในการเชื่อมและเชิญชวนเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสและผู้ปกครองได้ทราบถึงความสำคัญ สิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการเพื่อนำมาสู่กระบวนการกลางน้ำ คือการฝึกอบรมทักษะอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสนับสนุนเงินสงเคราะห์ระหว่างฝึกอบรม จนถึงกระบวนการปลายน้ำ คือการสำรวจและเตรียมตำแหน่งงานว่าง เพื่อรองรับเด็กที่ผ่านการฝึกอบรม อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการบูรณาการความร่วมมือร่วมใจ ของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูแนะแนวเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการนี้อีกด้วย
ปริญญา/ข่าว/ภาพ