ข่าวประชาสัมพันธ์ 15 - 30 เมษายน 2566

ข่าวประชาสัมพันธ์ จังหวัดชลบุรี

สำนักงานประสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี

ระหว่างวันที่ 15 – 30 เมษายน 2566

***********************************************************************

ผู้ว่าชลบุรี เตือนประชาชนด้านอัคคีภัย

        นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมักประสบกับปัญหาเพลิงใหม้อาคาร สำนักงาน และบ้านเรือนประชาชน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้าตามอาคารสำนักงานบ้านเรือนที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานานขาดการตรวจสอบซ่อมบำรุงและปรับปรุง ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย ก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

        ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ จุดใดมีสภาพชำรุด เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยควรเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปิดสวิทซ์ไฟเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการใช้งาน รวมทั้งสำรวจพื้นที่รอบบ้านของตัวเอง โดยเฉพาะพื้นที่โล่งที่มีใบไม้หรือหญ้าแห้งปกคลุม ควรทำความสะอาดโดยการกวาดและนำไปทิ้งถังขยะ เพื่อไม่ให้เกิดการเผาไหม้ของแสงอาทิตย์ อาจเกิดไฟไหม้ได้

        หากเกิดไฟไหม้ ขอให้แจ้งไปที่สายด่วน ดับเพลิง 199 หรือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี ชั้น 2 ถนนมนตเสวี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000 โทร 0-3827-8031-2 โทรสาร 0-3827-8031-2. หรือสายด่วน 1784

ปริญญา/ข่าว

*********************************************

ปิดเทอม เตือนเด็กเสี่ยง "จมน้ำ" เสียชีวิต

          นางพนิดา จันทวัฒน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน และเป็นช่วงปิดเทอมทำให้เด็กและเยาวชนเกิดเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม และเด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระเก็บน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น การปักป้ายเตือน การกั้นรั้ว การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ

          ขอแนะนำให้ทุกชุมชนดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ปกครองควรเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำ เช่น ความลึก ความตื้น และกระแสน้ำ

          ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากถึงประชาชน ผู้ปกครอง และเด็กๆ หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ปริญญา/ข่าว

**********************************************

สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เตือนโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

          นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะ ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

            นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลุบรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน รวมถึงประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตามโรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะ ที่สำคัญในร่างกาย

ปริญญา/ข่าว

*******************************************

ขอเชิญชาวจังหวัดชลบุรี ไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และพรรคการเมือง 14 พ.ค.66นี้

        นางสาววิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรี มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 10 เขต จำนวนทั้งสิ้น 111 คน จาก 14 พรรคการเมือง ซึ่งจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเขตเลือกตั้งอันดับ 5 ของประเทศ

        จังหวัดชลบุรี มีราษฎร 1,572,157 คน (อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี) เมื่อเฉลี่ยจำนวนราษฏร 162,766 คนต่อ สส แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ทำให้ จังหวัดชลบุรี สามารถแบ่งเขตเลือกตั้ง ออกได้เป็น 10 เขต ดังต่อไปนี้

         เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองชลบุรี (เฉพาะตำบลแสนสุข ตำบลบ้านปึก ตำบลอ่างศิลา ตำบลเสม็ด ตำบลห้วยกะปิ ตำบลเหมือง ตำบลหนองข้างคอก และตำบลหนองรี)

         เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอเมืองชลบุรี (เฉพาะตำบลบ้านสวน ตำบลบางปลาสร้อย ตำบลมะขามหย่ง ตำบลบ้านโขด ตำบลบางทราย และตำบลนาป่า)

        เขตเลือกตั้งที่ 3  อำเภอพานทอง อำเภอเมืองชลบุรี (เฉพาะตำบลหนองไม้แดง ตำบลคลองตำหรุ ตำบลดอนหัวฬ่อ และตำบลสำนักบก) และอำเภอบ้านบึง (เฉพาะตำบลหนองซ้ำซาก ตำบลมาบไผ่ ตำบลหนองบอนแดง และตำบลหนองชาก)

        เขตเลือกตั้งที่ 4 อำเภอบ่อทอง, อำเภอหนองใหญ่ และอำเภอบ้านบึง (เฉพาะตำบลบ้านบึง ตำบลคลองกิ่ว ตำบลหนองไผ่แก้ว และตำบลหนองอิรุณ)

        เขตเลือกตั้งที่ 5 อำเภอพนัสนิคมและอำเภอเกาะจันทร์

        เขตเลือกตั้งที่ 6 อำเภอเกาะสีชังและอำเภอศรีราชา (เฉพาะตำบลบางพระ ตำบลศรีราชา ตำบลสุรศักดิ์ และตำบลทุ่งสุขลา)

        เขตเลือกตั้งที่ 7 อำเภอศรีราชา (เฉพาะตำบลหนองขาม ตำบลเขาคันทรง ตำบลบ่อวิน และตำบลบึง)

        เขตเลือกตั้งที่ 8 อำเภอบางละมุง (ยกเว้นตำบลหนองปรือ)

       เขตเลือกตั้งที่ 9 อำเภอบางละมุง (เฉพาะตำบลหนองปรือ)

       เขตเลือกตั้งที่ 10 อำเภอสัตหีบ     

       ขอเชิญผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปลงคะแนนในวันที่ 14 พฤษาคม 2566 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.ตามหน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีรายชื่ออยู่ หรือสามารถตรวจสอบได้ที่

https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/

ปริญญา/ข่าว

*****************************************

ปภ. เตือนภัยพายุฤดูร้อน

        นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (111/๒๕๖๖) ลงวันที่ 22 เมษายน 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าบางพื้นที่ ระหว่างวันที่ 23 - 26 เมษายน 2566 จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าว

          สำหรับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ได้มอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโซกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่า โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสารขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ระมัดระวังสิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายด้วย

         หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ให้รายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรีทราบโดยเร็ว ทางโทรสารหมายเลข 0 3827 8031-2

จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ chon_dpm@hotmail.com และรายงานสถานการณ์/การให้ความช่วยเหลือทุกระยะ

ปริญญา/ข่าว

********************************

Visitors: 224,417