พิธีเปิดงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์ ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่

  

  

  

  

พิธีเปิดงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์ ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่

       วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี เปิดงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์ ประจำปี 2567 ณ บริเวณหอพระพุทธสิหิงค์ฯ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ศาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย และพ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดชลบุรี ร่วมพิธีเปิดครั้งนี้

          จังหวัดชลบุรี จัดงานประจำปี 2567 โดยใช้ชื่อว่า งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11-19 เมษายน 2567 ประจำปี 2567 ณ บริเวณหน้าพระพุทธสิหิงค์ฯ บริเวณหน้าสนามศาลากลางจังหวัดชลบุรี และบริเวณสนามหน้าอำเภอเมืองชลบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และสืบสานประเพณีของจังหวัดชลบุรีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน งานประจำปีของจังหวัดชลบุรี มีคุณค่าครอบคลุมในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การกีฬา การรื่นเริงบันเทิงและการส่งเสริมรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นซึ่งงานนี้มีอายุยาวนานมาถึง 92 ปี นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยิ่งของภาคตะวันออก และได้มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน มูลนิธิ สมาคม และประชาชนชาวชลบุรี ที่ได้ทุ่มเทและร่วมแรงร่วมใจ ในการดำเนินงานกระทั่งปรากฏผลงานอันทรงคุณค่า และมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วประเทศ การจัดงานใน ครั้งนี้ จังหวัดชลบุรีจัดให้มีกิจกรรมมากมาย เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้รับทั้งสาระความรู้ ความสุข สนุกสนาน และได้บุญกุศลโดยถ้วนหน้ากัน และขอให้ร่วมกันรักษางานประเพณีอันดีงามนี้ไว้ชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

         สำหรับงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และการสงกรานต์ประจำปี 2567 เป็นงานประจำปีของชาวจังหวัดชลบุรี ได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 91 ปีแล้ว และปีนี้นับเป็นการจัดงานครบรอบ 92 ปี นับตั้งแต่การจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2475 งานนี้เดิมเรียกว่า “งานฉลองสันติภาพ” จัดว่าเป็นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี รวมทั้งนำรายได้จากการจัดงานไปช่วยเหลือด้านสาธารณกุศลพร้อมทำนุบำรุง และสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ คณะกรรมการจัดงานจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น การจัดนิทรรศการโบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรมไทยของยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี การจัดริ้วขบวนแห่สงกรานต์ การประกวดเทพีสงกรานต์ เพื่อเชิดชูและรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ การออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัด การออกร้านของส่วนราชการ และภาคเอกชน การแข่งขันกีฬาไทย การแสดงมหรสพ และการละเล่นต่างๆ ที่สำคัญในปีนี้จังหวัดชลบุรี ได้กำหนดให้ร้านต่างๆ ทั้งของส่วนราชการและเอกชน ตกแต่งร้านในลักษณะของการส่งเสริมให้คนเที่ยวชลบุรี พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรม หรือผู้ผลิตในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมาร่วมแสดงและจำหน่ายในบริเวณงานด้วย

           นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี ได้จัดสืบทอดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 92 จังหวัดชลบุรี ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามสืบต่อกันมา ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า จังหวัดชลบุรี แม้จะมีการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนด้านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ซึ่งสอดคล้องกับ แนวคิดของการจัดงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2566 ที่กล่าวไว้ว่า “งานสงกรานต์ชลบุรี ประเพณีของคนเมืองชล”

          การนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ อันเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชลบุรี นอกจากเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เกิดจากแรงศรัทธาและแรงบันดาลใจอันบริสุทธิ์แล้ว ยังช่วยจรรโลงจิตใจให้ชาวชลบุรี ได้น้อมนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตทำให้สังคมเมืองชลบุรีมีความร่มเย็นเป็นสุขสอดคล้องกับวิถีของประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของคนไทยที่มีคุณค่ามากมายต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่แสดงถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต อีกทั้งกิจกรรมต่าง ๆที่จัดขึ้นภายในงานฯ ก็จก่อให้เกิดความรักความผูกพัน ความสมัครสมานสามัคคีของคนในท้องถิ่น นำมาซึ่งความผาสุกในสังคมอีกด้วย

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 219,038