กรมชลประทานรุกคืบผลการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำฯในพื้นที่ EEC

  

  

  

กรมชลประทานรุกคืบผลการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำฯในพื้นที่ EEC    

         กรมชลประทานรุกคืบการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำฯในพื้นที่EEC พร้อมพัฒนาระบบWeb Application เป็นเครื่องมือแสดงต้นทุนการจัดการน้ำและอัตราค่าน้ำชลประทานที่เหมาะสม มีมาตรฐานและเป็นธรรมได้รับการยอมรับทุกภาคส่วน พร้อมนำไปขยายผลการศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

         นายประสพโชค มั่งจิตร ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 9 กล่าวภายหลังเป็นประธานจัดประชุมปัจฉิมนิเทศนำเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทราจ.ชลบุรีและจ.ระยองที่จัดขึ้น ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรีเมื่อเร็วๆนี้ว่า กรมชลประทานได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาต้นทุนน้ำ เพื่อศึกษารวบรวม และวิเคราะห์ โครงสร้างต้นทุนและการประเมินต้นทุน เมื่อปี 2566ที่ผ่านมาและได้สิ้นสุดโครงการในเดือนพฤษภาคม 2567 ขณะนี้การศึกษาได้ผลสรุปเป็นที่น่าพอใจต่อไปพร้อมส่งต่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งนำไปเป็นต้นแบบในการศึกษาฯพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศต่อไป

         นายประสพโชค ต่อว่า ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุนหลักของประเทศไทยและภูมิภาค นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแล้วยังมีฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการเกษตรมูลค่าสูง ทำให้มีแรงงานทุกระดับหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ส่งผลให้มีความต้องการความมั่นคงด้านน้ำสูงและคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2580 จะมีความต้องการใช้น้ำรวม 3,089 ล้าน ลบ.ม./ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีความต้องการใช้น้ำรวม 2,419 ล้าน ลบ.ม/ปี (เพิ่มขึ้น 670 ล้าน ลบม /ปี) อันเนื่องจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดEEC คิดเป็นร้อยละ 53.5 ของความต้องการใช้น้ำทั้งภาคตะวันออก ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำภาคอุปโภค-บริโภคมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด(ร้อยละ 56) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 43) และภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 17)

            จากแนวโน้มดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยต้นทุนน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาต้นทุนน้ำ เพื่อศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ โครงสร้างต้นทุนและการประเมินต้นทุน การจัดการน้ำอุปทานโดยกรมชลประทานและการกำหนดอัตราค่าน้ำชลประทานที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมสำหรับทุกภาคส่วนที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามบริบทการจัดหา จัดสรร พัฒนา ให้บริการด้านอุปทานน้ำ (Water Resources Supply) รวมทั้งวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้โครงสร้างต้นทุนการจัดการน้ำอุปทานและอัตราคำน้ำชลประทานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่สอดคล้องกับแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้ใช้น้ำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแบบบูรณาการ 

      โดยคณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนค่าน้ำและกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแนวทางการจัดการน้ำอุปทานอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับภาคส่วนผู้ใช้น้ำที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้วให้มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และรองรับอุปสงค์น้ำจากการคาดการณ์บริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและพัฒนาระบบ Web Application สนับสนุนการวิเคราะห์ ประเมิน และกำหนดต้นทุนการจัดการน้ำอุปทานและกำหนดต้นทุนการจัดการน้ำ กำหนดอัตราค่าน้ำชลประทานอย่างเหมาะสม  ภายใต้การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ ความต้องการน้ำและระดับความขาดแคลนอย่างมีมาตรฐานและเป็นธรรมสำหรับทุกภาคส่วนในเป้าหมาย 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง คาบเกี่ยวกับ2ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำบางปะกงและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกรวมพื้นที่ศึกษาทั้งหมดประมาณ8,454,375ไร่         

         ด้านนายจักรพันธุ์ ช้อยหิรัญ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 3 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บค่าใช้น้ำ ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงหาผลกำไร แต่เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ เพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการลงทุนการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งอัตราที่ใช้จัดเก็บในปัจจุบันมีการใช้มาตั้งแต่ปี 2485 โดยกำหนดอัตราเป็น 2 ประเภท คือการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม เรียกเก็บได้ในอัตราไร่ละ 5 บาทต่อปี และการใช้น้ำในภาคนอกเกษตรกรรม เรียกเก็บในอัตราลูกบาศก์เมตรละ50 สตางค์ซึ่งเทียบกับหน่วยงานอื่นที่ขายในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการประปาส่วนภูมิภาค หรือ อิสเวอร์เตอร์จะขายให้หน่วยงานต่างๆอยู่ประมาณ 10 กว่าบาท/ลบ.ม กรมชลประทานจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาศึกษา ทบทวนอัตราการจัดเก็บค่าน้ำที่เหมาะสม โดยจะวิเคราะห์ต้นทุนตามหลักวิชาการภายใต้แนวความคิด Full Cost Recovery และพัฒนาระบบWeb Application เพื่อเป็นเครื่องมือแสดงต้นทุนการจัดการน้ำและอัตราค่าน้ำชลประทานที่เหมาะสม มีมาตรฐานและเป็นธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน  

          สำหรับแนวทางการจัดเก็บ จะมีการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทของการใช้น้ำแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ประเภทที่1 เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ  ประเภทที่2 เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่3 คือ เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อ่างกว้างขวา  ซึ่งแต่ละประเภทจะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกันไปโดยมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย   ทั้งนี้ยืนยันว่าการพิจารณาจะเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วนที่สุด โดยกรมชลประทานได้เลือกพื้นที่ภาคตะวันออกนำร่องในการศึกษาต้นทุนน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและสังคมคามนโยบายของรัฐบาลที่มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากและมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต โดยจะนำผลสำเร็จจากการศึกษาครั้งนี้ นำไปขยายผลและผลักดันต่อไป  

         ด้านรศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลที่ได้รับจากโครงการศึกษาในครั้งนี้ว่า ผลการวิเคราะห์และแจกแจงต้นทุนจากการบริหารจัดน้ำของกรมชลประทานภายใต้บริบทของพื้นที่ศึกษา เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การกำหนดอัตราราคาค่าน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสม สะท้อนและครอบคลุมต้นทุนที่ได้มาตรฐาน ถูกต้อง ตามหลักวิชาการเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรม มีการนำระบบ Web Application สนับสนุนวิเคราะห์ ประเมินและกำหนดค่าน้ำ การจัดการน้ำอุปทานอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการนำแนวทางการใช้โครงสร้างต้นทุนการตัดการน้ำอุปทานและอัตราค่าน้ำชลประทาน โดยจะมีนำผลการศึกษาในครั้งนี้ เข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพิจารณาตามขั้นตอน และจะสรุปข้อเสนอสู่เชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อไป 

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 218,968