กองทัพเรือเปิดอาคารเครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ
กองทัพเรือเปิดอาคารเครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ Naval Mission Training Center เพิ่มขีดความในการปฏิบัติงานของกำลังพลหน่วยเรือ
พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน ในพิธีเปิดอาคาร เครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ Naval Mission Training Center ณ กองการฝึก กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการกองทัพเรือ เข้าร่วมพิธี
พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยว่า สำหรับ อาคารเครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ Naval Mission Training Center เป็นอาคารที่ก่อสร้างและติดตั้ง เครื่องช่วยจำลองสถานการณ์ การปฏิบัติงานสาขาต่าง ๆ ในเรือ เพื่อใช้ฝึกกำลังพลของกองทัพเรือที่จะต้องปฏิบัติ งานในเรือให้มีความรู้ ทักษะ และความคุ้นเคย ในการปฏิบัติงานในเรือในสถานการณ์ต่างๆ โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณ จากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 จากบริษัท Rheinmetaill Electronics GmbH สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้รับมอบ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 คุณสมบัติและขีดความสามารถของเครื่องฝึก เครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือ (Naval Mission Training Center) ของกองการฝึก กองเรือยุทธการ มีขีดความสามารถในการจำลองการฝึกและช่วยประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานภายในเรือสาขาต่าง ๆ ได้เสมือนจริง ตั้งแต่ในระดับผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงระดับทีมปฏิบัติงานภายในเรือ ซึ่งประกอบด้วย 1.การฝึกจำลองการเดินเรือ (Ship Handling Simulator, SHS) เครื่องฝึกจำลองการเดินเรือนี้สามารถจำลองคุณลักษณะต่างๆ ของเรือในกองทัพเรือได้อย่างสมจริง ได้แก่ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวง ภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร เรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา เรือคอร์เวตชุดเรือหลวง รัตนโกสินทร์ และ เรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเครื่องฝึกจำลองการเดินเรือนี้สามารถสร้างสถานการณ์และออกแบบการฝึกได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับระดับผู้รับการฝึกตามหัวข้อและวัตถุประสงค์ของการฝึกที่กำหนด โดยสามารถกำหนดพื้นที่การฝึก ท่าเรือที่สำคัญต่างๆ ทั้งน่านน้ำในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งอ้างอิงมาจากแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ระวางต่างๆ ตลอดจนสามารถกำหนดสภาพแวดล้อมสำหรับการฝึกได้อย่างครบถ้วน 2.การฝึกจำลองการปฏิบัติงานด้านศูนย์ยุทธการในเรือ (CIC Trainer, CIC) เครื่องฝึกสามารถจำลองปฏิบัติงานในห้องศูนย์ยุทธการสาขาต่างๆ ด้วยการจำลองอุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธ และระบบสื่อสารทั้งภายในและภายนอกเรือได้ในลักษณะเดียวกับที่ปฏิบัติงานจริงบนเรือตามหลักปฏิบัติของกองเรือยุทธการ 3.การฝึกจำลองการปฏิบัติงานด้านการช่างกลในเรือ (Ship Engines Simulator,SES) สามารถใช้จำลองเพื่อการฝึกปฏิบัติงานกับเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย การไฟฟ้าในเรือ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติหน้าที่ยามพรรคกลินเรือเดินตำแหน่งต่างๆ โดยสามารถสร้างโจทย์สถานการณ์ด้านการช่างกล เพื่อฝึกการวิเคราะห์การทำงาน และแก้ไขข้อขัดข้องของระบบเครื่องจักรต่างๆ ภายในเรือ และ4.การฝึกจำลองการปฏิบัติตามหลักการและขั้นตอนการป้องกันความเสียหายภายในเรือ (Damage Control Trainer) สามารถจำลองสถานการณ์ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเรือเพื่อฝึกการวิเคราะห์ และประเมินค่าความเสียหาย การติดตามสถานการณ์ การสั่งการและการปฏิบัติในการแก้ไข การซ่อมทำ การกู้คืน เพื่อควบคุมความเสียหายตามขั้นตอน ทั้งในระดับศูนย์ควบคุมความเสียหาย และระดับหน่วยซ่อม นอกจากเครื่องฝึกจำลองสถานการณ์ในเรือทั้งสี่สาขาจะสามารถฝึกการปฏิบัติตามแต่ละสาขาในเรือแล้ว เครื่องฝึกเหล่านี้ยังสามารถเชื่อมข้อมูลการฝึกต่อกันเพื่อฝึกการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสาขาต่างๆ ในเรือเสมือนเป็นเรือรบหนึ่งลำได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานเป็นทีมของกำลังพลหน่วยเรือ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำลังพลจะมีความรู้ มีความเข้าใจ มีทักษะในการปฏิบัติงานภายในเรือสาขาต่างๆ ทั้งในระดับผู้ปฏิบัติงานและทีมปฏิบัติงาน จนเกิดความชำนาญมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานในสภาวะฉุกเฉินต่างๆ สามารถปฏิบัติงานทดแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สามารถทำการฝึกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ประหยัดงบประมาณในการฝึก กำลังทางเรือเพื่อการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งในยามปกติและยามสงครามสามารถตอบสนองต่อภารกิจของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ปริญญา/ข่าว/ภาพ