การฝึกภาคสนาม FTX
การฝึกภาคสนาม (FTX) การฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร ประจำปี 2567
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 พลเรือเอกสุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) การฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหารประจำปี 2567 (กรส.67) โดยมีพลโทคณพล บำรุงเมือง เจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม และคณะ ร่วมตรวจเยี่ยม ณ กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย จังหวัดชลบุรี
กระทรวงกลาโหม ได้จัดการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) การฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหารประจำปี 2567 (กรส.67) ระหว่างวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม 2567 ขี้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการซักซ้อมการระดมทรัพยากรจากหน่วยประสานงานหลักที่รับผิดชอบทรัพยากร ในการสนับสนุนงานการระดมสรรพกำลังในภาวะวิกฤต ตามแผนการปฏิบัติของหน่วย ที่เกี่ยวข้อง และแผนผนึกกำลังและทรัพยากรเพื่อการป้องกันประเทศ โดยมุ่งเน้นการประสานงาน ด้านทรัพยากรระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตามแผนเตรียมพร้อมทรัพยากรฯ ที่หน่วยงานกำหนด สนับสนุนตามสถานการณ์การฝึกฯ ซึ่งจะมีความต่อเนื่องจากการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ที่ผ่านมา
พลเรือเอกสุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม การฝึกในครั้งนี้ เป็นการฝึกการระดมทรัพยากรจำนวน 10 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกำลังคน ด้านอาหาร ด้านน้ำ ด้านการคมนาคม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรมและปัจจัยการผลิต ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและอื่นๆ โดยมีการฝึก 2 รูปแบบ ได้แก่ การฝึกรับ-ส่งทรัพยากรระหว่างฝ่ายพลเรือนกับหน่วยทหารในพื้นที่ผ่านศูนย์ระดมสรรพกำลัง และการทดสอบการสนับสนุนทรัพยากรจากส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการฝึกฯ ตามวงรอบการระดมสรรพกำลัง จำนวน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นการเตรียมการ หน่วยประสานงานหลักฯ ประสานหน่วยงานส่วนภูมิภาคเพื่อเตรียมการซักซ้อมแผน ให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามแผนที่กำหนด และเตรียมการสนับสนุนทรัพยากรเข้าร่วมการฝึกภาคสนาม (FTX) ตามที่หน่วยงานส่วนกลางได้รับโจทย์ปัญหาจากการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ขั้นการระดมทรัพยากร เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของศูนย์ระดมสรรพกำลัง ส่วนราชการพลเรือนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และหน่วยทหารในพื้นที่ โดยนำทรัพยากรมาสนับสนุนตามที่ฝ่ายทหารร้องขอ และการตรวจสอบคุณลักษณะ เพื่อส่งให้หน่วยทหารในพื้นที่นำไปใช้ปฏิบัติการทางทหาร และขั้นการเลิกระดมทรัพยากร เป็นการปฏิบัติในการส่งคืนทรัพยากรที่ได้ระดมสรรพกำลังจากฝ่ายพลเรือน โดยฝ่ายทหารจะนำทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ส่งคืนให้ฝ่ายพลเรือนผ่านศูนย์ระดมสรรพกำลัง ตลอดจนการประเมินค่าเสียหายและรวบรวมไปสู่ขั้นตอนการชดเชยชดใช้ต่อไป
สำหรับการฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร เป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ด้วยความร่วมมือร่วมใจ การมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ การได้ฝึกซ้อมการปฏิบัติร่วมกันอย่างทุ่มเท จริงจัง และสม่ำเสมอตลอดมา ส่งผลให้มีการฝึกมีพัฒนาการและความก้าวหน้าที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองต่องานด้านการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร นับได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอันจะนำความสงบสุขสู่ประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
ปริญญา/ข่าว/ภาพ