ข่าวประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2564
ประชาสัมพันธ์ สำนักงานประสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี
โทรศัพท์/โทรสาร 038 - 279448 www.chonburipr.net
ระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤศภาคม 2564
*************************************************************
นายกฯ ให้การฉีดวัคซีนเป็น “วาระแห่งชาติ” เร่งให้คนไทยมาฉีด ประเทศจึงจะไปต่อได้
วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ผมได้เสนอให้การฉีดวัคซีนเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจาย ไปจนถึงการฉีดด้วย เพื่อ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยของเรา แต่สิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นจริงไปไม่ได้เลย หากพี่น้องประชาชนในประเทศไทย ไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
“ผมจึงอยากขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคน มาเข้ารับการฉีดวัคซีนกัน ให้มากที่สุด ประเทศไทยจึงจะไปต่อได้ ผมขอยืนยันว่า วัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าทุกชนิด มีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีคนฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคน รวมทั้งผู้นำประเทศทั่วโลก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างยืนยันว่า วัคซีนโควิดทุกชนิด สามารถป้องกัน การป่วยรุนแรงหากติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ส่วนโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงนั้น มีน้อยมากๆ หากเปรียบเทียบกันแล้ว โอกาสในการติดโควิด และเสียชีวิตจากโควิดนั้นมีสูงกว่า การฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงหลายพันเท่า
ปริญญา/ข่าว
*************************************
ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 ขอเชิญประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรงร่วมบริจาคโลหิต
นางสาวประภาภรณ์ อุดมวินิจศิลป์ หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จังหวัดชลบุรี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง ที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็ก โรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต
สำหรับสถานที่รับบริจาคโลหิตบริจาคโลหิตที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ หรือสามารถตรวจสอบสถานที่รับบริจาคโลหิต คลิก https://bit.ly/2XGCf4l ส่วนตารางหน่วยเคลื่อนที่บริจาคโลหิต คลิก https://bit.ly/2WXPsGV ส่วนประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID - 19 สามารถบริจาคโลหิตได้ กรณีฉีดวัคซีน Sinovac ให้เว้น 1 สัปดาห์ สามารถบริจาคโลหิตได้ ส่วนกรณีฉีดวัคซีน Astra Zeneca,Johnson & Johnson ให้เว้น 4 สัปดาห์ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้ ส่วนกรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้หายดีก่อน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ) ก็บริจาคโลหิตได้
วอนคนไทยสุขภาพดี มาบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ มหายเลข 038 278905
ปริญญา/ข่าว
*****************************************
โออาร์ ร่วมฝ่าวิกฤต สู้ภัยโควิด-19 สนับสนุน รพ.สนาม 3 แห่ง ใน จ.ชลบุรี
นายชัยยศ หงษ์ขจร ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมภาคตะวันออก นายสุรศักดิ์ สีทา ผู้จัดการส่วนคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ะ พร้อมด้วย นายดุสิต ดอนพรหม ผู้จัดการส่วนบริการงานคลังภาคตะวันออก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ส่งมอบแอลกอฮอล์ชนิดน้ำสำหรับทำความสะอาด จำนวน 150 ลิตร กาแฟ อเมซอน ดริป คอฟฟี่ (รสซิกเนเจอร์) จำนวน 500 ซอง และน้ำดื่ม จำนวน 396 ขวด ให้กับโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลบางละมุง โดยมี นางอัจฉรา ประสพสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลบางละมุง ให้เกียรติรับมอบ ณ โรงพยาบาลบางละมุง อีกทั้งยังได้มอบแอลกอฮอล์ชนิดน้ำ สำหรับทำความสะอาด จำนวน 100 ลิตร พร้อม กาแฟ อเมซอน ดริป คอฟฟี่ (รสซิกเนเจอร์) จำนวน 500 ซอง ให้กับ โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลแหลมฉบังโดยมี นายแพทย์จิรศักดิ์ จิรากูลสวัสดิ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลแหลมฉบัง ให้เกียรติรับมอบ ณ โรงพยาบาลแหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการรองรับผู้ป่วย โควิด-19 ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้มอบแอลกอฮอล์ชนิดน้ำ สำหรับทำความสะอาด จำนวน 150 ลิตร กาแฟ อเมซอน ดริป คอฟฟี่ (รสซิกเนเจอร์) จำนวน 500 ซอง และน้ำดื่ม จำนวน 204 ขวด ให้กับโรงพยาบาลสนาม ศูนย์อนามัยที่ 6 อีกด้วย
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มุ่งมั่นในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมชุมชนในทุกพื้นที่ ที่โออาร์เข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โออาร์ขอส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และพร้อมเคียงข้างคนไทย ร่วมฝ่าสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
ปริญญา/ข่าว
****************************************
EMA ขอบคุณนายกฯ สั่งการเยียวยา ลูกจ้างอีเวนต์ว่างงานจากพิษโควิด-19
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA กล่าวว่า ตามที่สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมาจนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการถาวรแล้วกว่าร้อยละ 60 ทำให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมากนั้น
“ทางสมาคมฯ ขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี รวมถึง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ไม่ทอดทิ้งภาคธุรกิจอีเวนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และได้สั่งการให้พิจารณาข้อกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม ให้สามารถจ่ายผลประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีเวนต์ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนเป็นปกติอีกครั้ง โดยเราพร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการนำภาคอุตสาหกรรมอีเวนต์ ร่วมขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในธุรกิจอีเวนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการรับจ้างและให้บริการจัดอีเวนต์ 2.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : Meetings Incentives Conventions และ Exhibitions) 3.ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการระบบแสงเสียงภาพและเทคนิคพิเศษ 4.ผู้ประกอบการ การให้ บริการออกแบบและจัดสร้างบูธแสดงสินค้า ฉากและเวที 5.ผู้จัดเทศกาลดนตรีเทศกาลบันเทิงอื่นๆ
ปริญญา/ข่าว/ภาพ
***************************************
สธ. เผยไทยเข้มมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากประเทศเสี่ยงสายพันธุ์อินเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดในไทย
กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเข้มมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากประเทศเสี่ยงสายพันธุ์อินเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดในไทย หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียรายแรก ในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (SQ) ซึ่งรายดังกล่าวเดินทางเข้ามาตามระบบที่วางไว้ ทำให้ตรวจพบได้เร็วและเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ที่น่าห่วงคือบริเวณพื้นที่ชายแดน ขอให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยเร็ว
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจพบผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียรายแรก โดยตรวจพบในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (State Quarantine : SQ) ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นหญิงชาวไทย อายุ 42 ปี เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ไปต่อเครื่องที่ดูไบ และมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยกักตัวที่ SQ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผลการตรวจสายพันธุ์พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.1) และได้ส่งต่อผู้ป่วยจาก SQ ไปดูแลรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อไป
สำหรับการตรวจพบสายพันธุ์อินเดียในครั้งนี้ เป็นการตรวจพบในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามระบบที่วางไว้ และทุกคนที่เข้ามาก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ทำให้ตรวจพบได้เร็วและเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที และจะดูแลรักษาจนปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างและระบาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รายละเอียดของเชื้อดังกล่าวมีจำกัด และยังไม่ทราบว่ามีการดื้อวัคซีนมากแค่ไหน การแพร่กระจายของเชื้อเป็นอย่างไร รวมถึงมีความรุนแรงของโรคเพียงใด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า กรณีเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ ได้มีมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และเนปาล โดยมีการชะลอชั่วคราวการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ certificate of entry (COE) ทำให้คนต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่กรณีคนไทยที่กลับจากประเทศดังกล่าวจะได้เข้าสู่ระบบการกักตัวใน SQ ตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถช่วยให้ตรวจจับโรคได้เร็วและป้องกันเชื้อแพร่กระจายในวงกว้างได้
ทั้งนี้ เรื่องที่น่าห่วงในช่วงนี้คือบริเวณพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีการลักลอบข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายและอาจนำเชื้อสายพันธุ์อื่นเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ผลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 (ข้อมูล ณ 11 พฤษภาคม 2564) มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 1,218 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาและชาวกัมพูชา
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ที่ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยเร็ว
ปริญญา/ข่าว
สปสช. แนะนำขั้นตอนรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนโควิด ชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง รีบฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน รอสิทธิฉีดวัคซีนโควิด เดือน มิ.ย. นี้ ช่วยลดอัตราเสียชีวิต และระยะเวลารักษาตัวใน รพ.
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงในทุกสิทธิรักษาพยาบาล จองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจำนวน 6.4 ล้านโดส ภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2564 และได้เปิดให้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่หน่วยบริการ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -31 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
ด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีอัตราตายสูงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยลดการแพร่กระจายโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดได้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อนติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือแม้แต่การเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่ากลุ่มไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด 19
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาพยาบาล จองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2564 เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันระดับประชากร ฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับเป้าหมายของการฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรคนี้ นอกจากเป็นกลุ่มประชากร 7 กลุ่มเสี่ยงเหมือนกันแล้ว ยังมีช่วงกำหนดระยะเวลาการรับบริการฉีดวัคซีนที่ใกล้เคียงกัน ที่ผ่านมาจึงมีคำถามและข้อสงสัยในการปฏิบัติเพื่อรับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 โรค ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้มีคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่ได้การจัดสรรรวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่อไปได้ โดยระยะห่างระหว่างเข็มของวัคซีนโควิด-19 ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ส่วนกรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้ว จะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ที่ได้รับไปแล้ว ดังนี้
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดซิโนแวคเข็มที่ 2 จนครบทั้ง 2 เข็มก่อน โดยมีระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ ซึ่งให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) กรณีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด ให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน ส่วนผู้ที่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาให้ครบทั้ง 2 เข็มก่อน ซึ่งต้องฉีดห่างกันประมาณ 10-12 สัปดาห์ ก็สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการเปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงจองสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19 และจะเริ่มให้บริการฉีดได้ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ วันนี้สามารถเข้ารับการฉีดได้แล้ว ดังนั้นในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อที่จะรับวัคซีนโควิด-19 ในเดือนถัดไปอย่างต่อเนื่อง” นพ.จเด็จ กล่าว
ส่วนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
ปริญญา/ข่าว