ชลบุรี จัดงานพิธีวันพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ประจำปี 2567

  

  

  

  

ชลบุรี จัดงานพิธีวันพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

        วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2567 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ประธานพิธี พร้อมด้วยนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ศาลตุลาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด และพสกนิกรชาวจังหวัดชลบุรี ร่วมถวายเครื่องราชสักการะ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ อาคารอเนกประสงค์วิทยาการ โรงเรียนชลกันยานุกูล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

       ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และทูลเกล้าขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”

       นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถด้านการช่างอันเป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่ทรงประดิษฐ์ของเล่นเมื่อครั้งทรงพระเยาว์วัย จนถึงเรือใบที่ทรงใช้แข่งขันในกีฬาแหลมทอง กังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนทรงตั้งโรงเรียนพระดาบส เพื่อสอนวิชาชีพให้แก่เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสทั่วไปและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

        และเมื่อปีพุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่าง ณ ลุมพินีสถาน และทรงพระราชทานพระราชดำรัส เกี่ยวกับการช่างของคนไทยความตอนหนึ่งว่า “ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการ ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูงให้มีสิ่งใช้สอย ที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ คือ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ และประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่ายการช่วยเหลือทั้งสามาประการนี้ ต้องกระทให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า”

          จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เป็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล ที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพราะนั้นหมายถึงคณะภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะพระราชทานไว้เป็นเวลาผ่านมาถึง 54 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ และนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก อีกด้วย

       หลักจากเสร็จพิธีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้เยี่ยมบูธแสดงเครื่องมือของนักเรียน นักศึกษา ที่ผลิตขึ้น พร้อมทั้งได้พูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา และให้กำลังต่อไป

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 220,128