ชลบุรี จัดงานพิธีวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2567

 

  

  

  

ชลบุรี จัดงานพิธีวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

        วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีวางพานพุ่มเนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ อาคารอเนกประสงค์วิทยาการ โรงเรียนชลกันยานุกูล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

         ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 กำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย โดยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงค้นพบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทยในอดีตกาล ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นวันรัฐพิธี

         นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมนำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และพสกนิกรชาวจังหวัดชลบุรีทุกหมู่เหล่า ได้มาชุมนุมพร้อมกัน ณ มณฑลพิธีแห่งนี้ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงก่อสร้างบ้านเมืองให้อยู่ทุกวันนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นนักการทหาร นักปกครอง นักการทูต และนักปราชญ์ที่กล้าหาญชาญฉลาด เลื่องลือไปทั่วปฐพี เห็นได้จากการกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด การทรงมีพระเมตตาพระทัยใส่ใจทุกข์สุขของประชาชนให้มีการประกอบอาชีพอย่างเสรี ทรงยกเลิกจังกอบ ทรงให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินแก่ประชาชน ทรงเป็นผู้มีนโยบายกระชับมิตรกับดินแดนต่างๆ ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกล และทรงเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานว่า ทรงจัดสร้างพระอาราม ทั้งในและนอกราชธานี รวมทั้งทรงสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรม และการสร้างศาสนวัตถุอีกด้วย

 

  

         และในวันนี้ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการจัดการแข่งขัน คัดลายมือภาษาไทยสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปลูกฝังให้นักเรียน ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ประจำชาติไทย อีกทั้งเป็นการสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงประดิษฐ์ อักษรไทย เรียกว่า ลายสือไทย และพัฒนามาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทย ในปัจจุบัน

        สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ มีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันจำนวน  87 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากโรงเรียนทุกสังกัด และผลการแข่งขันมี ดังนี้ ระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1 - ป.3) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงอภิชญา เกิดผล โรงเรียนวัดหนองตำลึง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เด็กหญิงชนิภา นิลศิริ โรงเรียนอนุบาลชลบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เด็กหญิงสุพิชญา ติ่งแตง โรงเรียนอนุบาลวัดโคกท่าเจริญ

        ส่วนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4 - ป.6) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงชีวาพร ธรรมเนียม โรงเรียนอนุบาลบ่อทอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เด็กหญิงดาริกา ลามัญ โรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เด็กชายอึ่ง (ไม่ปรากฏนามสกุล) โรงเรียนพระตำหนักมหาราช

       และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงบุญยาพร ภักดี โรงเรียนเมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เด็กหญิงอารียา สุขสนิท โรงเรียนอนุบาลบางละมุงและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เด็กหญิงพรพิมล พลเยี่ยม โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 220,128