ชลบุรีหาแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์สุขภาพจิต
ชลบุรีหาแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์สุขภาพจิตเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย หลังพบมีวัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 ราย
นายพงศ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม พระพิพิธโภไคย ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี เพื่อชี้แจงทบทวน ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนตามบทบาทหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาสถานการณ์สุขภาพจิตของจังหวัดชลบุรี เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย ดูแลผู้ ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ติดตามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติด ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จากการรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจัง หวัดชลบุรีถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายของจังหวัดชลบุรีเมื่อปีที่แล้วมีจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย 154 ราย และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2568 มีการฆ่าตัวตายไปแล้ว 80 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่ง อยู่ที่ 41 ราย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อำเภอที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่อำเภอเมืองชลบุรี บางละมุง ศรีราชา ตามลำดับ พบในเพศชายสูงสุด กลุ่มอายุมากสุดอยู่ในวัยทำงาน อาชีพที่พบมากที่สุดเป็นกลุ่มว่างงาน รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง ซึ่งผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นด้วย จำนวน 2 ราย ส่วนสถานการณ์พยายามฆ่าตัวตายมีจำนวน 83 ราย เป็นเพศหญิง อาชีพรับจ้าง นักเรียน นักศึกษา และว่างงาน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จากสถิติการฆ่าตัวตาย พบในวัยรุ่นด้วยเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก คณะอนุกรรมการฯจึงได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ในฐานะฝ่ายเลขาฯได้จัดทำแผนอบรมให้ความรู้กับบุคลากรในสถานศึกษา ส่วนผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายและไม่ยอมเข้ารับการรักษาก็ได้เสริมสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเพิ่มการคัดกรอง โดยใช้โปรแกรมของกรมสุข ภาพจิต ในโรงเรียนซึ่งมีหลายโรงเรียนใช้อยู่ เป็นการทำงานสามฝ่ายโดยมีครู ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่โรงพยา บาลคอยคัดกรองและสังเกตุอาการนักเรียนให้คำปรึกษาแล้วส่งต่อระบบบริการ ส่วนเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ก็มีระบบการดูแล 2 ส่วน คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนแต่ยังไม่เคยเข้ารับการรักษา กับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาแล้วจะมีการดูแลต่อเนื่องด้วยทีมจัดการรายกรณี ซึ่งจะดูแลตั้งแต่ก่อนมาโรงพยาบาลโดยค้นหาในครอบครัวที่เสี่ยงต่อกลุ่มผู้ป่วยกลุ่ม SMI-V ส่งต่อโรงพยาบาล ระหว่างอยู่โรงพยาบาล และเมื่อออกจากโรงพยาบาลดูแลต่อเนื่องในชุมชนอย่างน้อย 5 ปี
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวด้วยว่า สำหรับการค้นหาผู้ป่วยจะมี 5 สัญญาณเตือน คือ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง หากพบบุคคลในครอบครัวมีลักษณะเช่นนี้ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที ซึ่งโรงพยาบาลชลบุรีได้จัดตั้งเป็นสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตจังหวัดชลบุรีโดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ให้โรงพยาบาลชลบุรีเป็นสถานบำบัดรักษาสุขภาพจิต สามารถรักษาได้เกิน 48 ชั่วโมงและกรณีฉุกเฉินคณะกรรมการสามารถเห็นชอบในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยไฟฟ้าหรือด้วยวิธีอื่นได้
ปริญญา/ข่าว/ภาพ