ภาคเอกชน ร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

ภาคเอกชน ร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

      วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนจังหวัดชลบุรี ร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ณ ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ชั้น2 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รับแทน

       ตามที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทุกที่ทั่วประเทศ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยให้สูงขึ้น อีกทั้งมอบเป็นของขวัญให้กับแรงงานไทยในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีผลปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้

        นายกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททุกที่ทั่วไทยว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องศึกษาและพิจารณา จากผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านระบบและกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด เพื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ แต่ละกิจการ พร้อมทั้งพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 จึงอยากให้รัฐบาลมองภาพรวมและคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต่อไป

      แม้การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นตามมา รวมถึงการถูกเลิกจ้างงานในบางกิจการ ซึ่งคาดว่าหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สินค้าและบริการบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาครัฐไม่ได้มีมาตรการคู่ขนานในการควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และอาจต้องเผชิญความเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจมีการหันไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจแบกรับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ไหวจนต้องปิดตัวลงอีกด้วย

      และในวันนี้ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนจังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี หอการค้าจังหวัดชลบุรี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย จังหวัดชลบุรี สมาคมการท่องเที่ยวและบริการศรีราชา - เกาะสีชัง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดชลบุรี สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออก สภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี โดยมีนายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อเสนอแนะและหนังสือยื่นต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานต่อไป

 

ปริญญา/ข่าว/ภาพ

Visitors: 218,968