โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จัดประชุมวิชาการด้านโรคมะเร็ง ครั้งที่ 13
โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็ง ครั้งที่ 13
วันพุธที่ 15 มีนาคม 2566 นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็ง ครั้งที่ 13 ณ โรงแรมลองบีช การ์เด้นท์ โฮเต็ล แอนด์สปา พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมให้การต้อนรับ
ปัจจุบันโรคมะเร็ง เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานอุบัติการณ์ด้านโรคมะเร็งพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 ราย หรือ 139,206 ราย ต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 ราย หรือ 84,073 รายต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกของคนไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็ง ขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็งแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในแต่ละระดับให้ได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนงานวิชาการด้านโรคมะเร็ง และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของโรงพยาบาลภูมิภาคแต่ละแห่งในเขตสุขภาพที่ 6 ต่อไป
นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีในฐานะเป็นหน่วยบริการตติยภูมิด้านโรคมะเร็งและเป็นแม่ข่ายในการพัฒนาวิชาการ โรคมะเร็ง ได้เล็งเห็นกิจกรรมสำคัญในการพัฒนาระบบเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการและวิชาการโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 6 ขึ้น ภายใต้โครงการ “ประชุมเชิงปฎิบัติการพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็ง ครั้งที่13” ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศและยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรไร้รอยต่อ ที่เน้นทีมสหสาขาวิชาชีพ
สำหรับการจัดประชุมในวันนี้เป็นการบรรยายทางวิชาการ ประกอบด้วย 3 หลักสูตร มีผู้เข้าร่วมประชุม 310 โดยหลักสูตรที่1 เป็นการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 140 คน ส่วนหลักสูตรที่ 2 เป็นการพัฒนาศักยภาพการตรวจวินิจฉัยด้านเซลล์วิทยาในการอ่านสไลต์จากการเจาะดูเซลล์ด้วยเข็มเล็ก (FNA) และเซลล์วิทยานรีเวช ครั้งที่15 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พยาธิแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบุคลากรทางด้านเซลล์วิทยา จำนวน 140 คน และหลักสูตรที่3 เป็นการพัฒนาเครือข่ายทางทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ทันตแพทย์ และบุคลากรด้านทันตกรรมจำนวน 30 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านวิทยากรชั้นนำจากหลายสถาบันมาบรรยายในแต่ละหลักสูตรต่อไป
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มุ่งพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์มีคุณภาพอย่างเสมอภาค ภายใต้ภารกิจการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการในทุกภาคส่วน นำมาสู่การพัฒนาทางการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนารูปแบบระบบบริการ Service plan สาขาต่างๆ รวมทั้งสาขาโรคมะเร็ง นอกจากนี้กรมการแพทย์ มีหน่วยงานที่ดูแลด้านโรคมะเร็ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ลพบุรี ลำปาง อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 6 การดำเนินงานควบคุมป้องกัน ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งควรมีบุคลากรสาธารณสุข ที่มีความรู้จากสหวิชาชีพ ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายให้ครอบคลุมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป
ปริญญา/ข่าว/ภาพ